สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ อยู่ใน ตำแหน่ง ๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา
พระองค์ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๖ พระชนกพระนามว่า เส็ง พระชนนีพระนามว่า จีบ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจริญวัยพระองค์ได้ทรงบรรพชากับท่านขรัวตาทอง ที่วัดท่าหอย โดยพระองค์ท่านได้ทรงศึกษาพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นประมาณ ๕ พรรษา ทรงลาสิกขาออกมาเพื่ออุปัฏฐากพระชนกพระชนนี
เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๗ พระชนมายุครบบวช พระองค์ได้ทรงอุปสมบทที่วัดโรงช้าง โดยมีพระครูรักขิตญาณ(สี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับการถวายพระนามว่า พระปุณณะปญญาภิกขุ ที่นี่พระองค์ได้ศึกษาพระกรรมฐานมัชฌิมาฯ กับพระอาจารย์ใหญ่ คือ พระพนรัต (แก้ว) วัดป่าแก้ว และได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดราชาวาสจนมีความรู้แตกฉาน ล่วงไป ๗ พรรษาท่านได้รับนิมนต์กลับมาจำพรรษาที่วัดท่าหอย และได้ทรงรับเป็นพระอธิการวัดท่าหอยในปีนั้นเอง
เวลาล่วงไป ๒ แผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟาจุฬาโลกได้โปรดให้นิมนต์พระองค์ท่านมายังกรุงเทพฯ ด้วยพระองค์ทรงเป็นเคยพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟาจุฬาโลกตั้งแต่ยังอยู่ที่วัดท่าหอย ได้จำพรรษาที่วัดพลับ(วัดราชสิทธาราม) ซึ่งเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของกรุงธนบุรีมาแต่เดิม โดยให้เป็นที่พระญาณสังวรเถร
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมราชวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ปรากฏนามพระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ ทำให้การศึกษาพระกรรมฐานฯ ในยุคของพระองค์ท่านรุ่งเรืองมาก พระองค์จึงได้ทรงวางรากฐานการศึกษาพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ไว้อย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่นสืบมา
พระองค์ได้รับ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในอีก ๔ ปีต่อมา คือในปี พ.ศ.๒๓๖๓ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ ๑ ปีกับ ๑๐ เดือน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๖๕ มีพระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ หลังพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่งบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการะบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้.